What is Roguelike

เกมแนว Roguelike / Roguelite คืออะไร เป็นมาอย่างไร ทำไมต้องรู้?

เกมเมอร์หลายๆ ท่านอาจจะเล่นเกมมาเยอะแยะมากมาย บางเกมก็จะมีคำแปลกๆ หรือแนวเกมแปลกๆ ที่ทางผู้พัฒนาเกมอยากอธิบายว่าเกมที่เล่นเป็นเกมแนวอะไร ซึ่งก็จะมีคำศัพท์ที่เราก็ไม่ค่อยจะเข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร และก็ไม่ได้สนใจด้วยว่าทำไมจะต้องไปรู้ แค่เล่นสนุกก็พอแล้วละ แต่ไม่บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นคำว่า “Roguelike” หรือ “Rogue-Like” ในเกมสมัยนี้ แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า คำว่า “Roguelike” คือแนวเกมอะไรกันแน่ ถ้าอยากรู้จักคำว่า “Rougelike” มากกว่าแค่อ่านผ่านๆไป บทความนี้ GameTonix จะพาเกมเมอร์ทุกท่านไปเจาะลึกถึงแก่นความเป็น “Roguelike” ที่แท้จริงกัน

สารบัญข้อมูล:

  1. แนวคิดหลัก Roguelike
  2. Roguelike มาจากไหน
  3. Roguelike คืออะไร
  4. คำนิยามของ Roguelike
  5. การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง
  6. ทางแยกใหม่ของ Roguelike
  7. Rougelike ในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

แนวคิดหลัก Roguelike:

โดยปกติแล้วเกมแนว Roguelike จัดอยู่ในประเภท Role-Playing-Game (RPG) หรือ เกมเล่นแบบสวมบทบาท โดยพื้นฐานของเกมจะมีลักษณะมาจากการเล่าเรื่องในนวนิยายแฟนตาซีเป็นหลัก ซึ่งคำว่า Roguelike นั้นเกิดขึ้นมาในยุคช่วง 70-80 โดยสะท้อนถึงอิทธิพลที่มาจากนวนิยายอย่าง Dungeons & Dragons (D&D) ซึ่งเป็นเกมที่เล่นกันบนโต๊ะหรือบอร์ดเกม รูปแบบการเล่นของบอร์ดเกม Dungeons & Dragons (D&D) ในสมัยยุค 80 ขออ้างอิงจากซีรีส์อย่าง Stranger Things Season 4 เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

Dungeons & Dragons Board game

Dungeons & Dragons (D&D) บอร์ดเกมที่ได้รับความนิยมสูง

วิธีการเล่นคือ จะมีผู้เล่นราวๆ 3-5 คน โดยผู้เล่นแต่ละคนจะต้องเลือกตัวละครของตัวเอง ซึ่งแต่ละตัวละครก็จะมีข้อมูลความสามารถของตัวเองอยู่ในกระดาษ และจะมี Game Master หรือ GM ที่คอยเล่าเรื่องราวให้กับผู้เล่น รวมถึงบอกเหตุการณ์ต่างๆ ไปตามเรื่องราวและจะคอยถามผู้เล่นเมื่อเจอเหตุการณ์สำคัญอย่างเช่น การต่อสู้กับมอนเตอร์ ว่าผู้เล่นจะทำอย่างไร โดยการถอยลูกเต๋าเพื่อเสี่ยงในการต่อสู้ และ GM จะเป็นคนบอกว่า การถอยลูกเต๋าเป็นอย่างไร ต่อสู้ชนะหรือไม่ นี่เป็นเพียงคร่าวๆ เพื่อที่จะบอกว่า แนวเกมแบบ Roguelike ก็มีปัจจัยที่มาจากบอร์ดเกมแทบจะทั้งสิ้น

Roguelike มาจากไหน:

เกม Rouge ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1980 ด้วยอิทธิพลจากรูปแบบการเล่นของบอร์ดเกม เกม Rogue ในยุคแรกเกมมีรูปแบบเป็นข้อความ ด้วยข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น ที่ยังมีจำนวนของหน่วยความจำไม่มากและยังพัฒนาผ่านคอมพิวเตอร์ระดับเมนเฟรมและเทอร์มินัลของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ UNIX ซึ่งใช้ในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ด้วยความที่เกมใช้รูปแบบข้อความเป็นพื้นฐาน เกมจึงใช้อักขระ ASCII หรือ ANSI ผสมกันเพื่อแสดงองค์ประกอบต่างๆ ภายในเกม

Roguelike ในช่วงแรกมีคำกำจัดความที่อ้างอิง คือ

  • ผู้เล่นจะต้องเดินลุยในดันเจี้ยนที่ระดับถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน
  • มีการเล่นแบบผลัดกันเดินหรือ Turn-based
  • มีรูปแบบการเดินที่เป็นช่องหรือตาราง
  • เมื่อตัวละครตายแล้ว จะตายอย่างถาวร

แต่คำจัดความเหล่านี้ของความเป็น Roguelike ก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสมัยนั้น

ที่มาของคำว่า “Roguelike” เริ่มต้นที่ชุมชนเกมแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า USENET ประมาณปี 1993 เทียบกับของไทยคือปี 2536 เนื่องจากช่องทางการพูดคุยในสมัยนั้นมีค่อนข้างจำกัด จึงทำให้ USENET เป็นชุมชนที่ค่อนข้างได้รับความนิยมสูง ขนาดที่ผู้พัฒนาเกมส่วนใหญ่ยังต้องมาใช้ช่องทางนี้ในการประกาศเปิดตัวเกมใหม่ๆ

ในช่วงยุคปี 80 – 90 เกมที่ได้รับอิทธิพลมาจากบอร์ดเกมในเวลานั้น ก็เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นเกม Hack, NetHack, Ancient Domains of Mystery, Moria, Angband, Tales of Maj’Eyal และ Dungeon Crawl Stone Soup และเกม Mystery Dungeon ซีรีส์ของญี่ปุ่นโดย Chunsoft ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก Rogue ก็ตกอยู่ภายใต้แนวคิดของ Rougelike เกมทั้งหมดนี้มีปัจจัยร่วมที่คล้ายๆ กัน ทำให้ชุมชนชาว USENET เกิดเสียงแตกออกไปในการเรียกชื่อเกมประเภทนี้และจะเรียกว่าอะไรดี จึงได้เกิดการหาข้อสรุปร่วมกันภายในชุมชน

โดยคำแรกที่ใช้เรียกเกมประเภทนี้ถูกเสนอให้ใช้ชื่อว่า rec.games.dungeon. และหลังจากนั้นประมาณ 3 สัปดาห์ต่อมา ชุมชนก็เสนอชื่อการเรียกใหม่เป็น rec.games.roguelike. โดยพิจารณาจากเกมชื่อ Rogue ว่าเป็นเกมที่เก่าแก่ที่สุดในเกมประเภทเดียวกัน (ถึงแม้ว่าจะมีเกมที่เก่าแก่กว่านั้นอย่าง Beneath Apple Manor, dnd และ Pedit5 ก็ตาม) หลังจากนั้นต่อมาในปี 1998 เทียบกับของไทยคือปี 2541 ก็ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาเกมประเภทนี้อีกครั้งและคำว่า “Roguelike” ก็ถูกกำหนดให้ใช้เรียกเกมประเภทนี้นับแต่นั้นเรื่อยมา ควบคู่กันมากับคำว่า “Doom Clone” ซึ่งเป็นคำที่นิยามเกี่ยวกับเกมยิงปืนและต่อมาก็ได้พัฒนาคำมาเป็น “First-Person Shooter” หรือ เกมยิงมุมมองบุคลลที่หนึ่ง

Roguelike คืออะไร:

คำว่า “Roguelike” นั้น มาจากการผสมคำระหว่าง “Rogue + Like” คำว่า Rogue ก็มาจากชื่อเกม ส่วนคำว่า Like ก็แค่บอกว่าเหมือนกับอะไร สรุปรวมๆ กันแล้วก็พอจะอธิบายได้ว่า “เหมือนกับเกม Rogue” ถ้าจะให้กล่าวกันแบบทางการเลย Roguelike คือ เกมที่เหมือกับเกม Rogue สั้นๆ แล้วเกม Rogue มันเป็นแบบไหนละ?

Rogue Game

เกม Rouge ในสมัยยุค 80

คำนิยามของ Roguelike:

เล่าต่อจากของเดิม เนื่องจากเกม Rogue นั้นรับอิทธิพลมาจากบอร์ดเกมอย่าง D&D นวนิยายแฟนตาซีอันโด่งดัง แต่ในช่วงแรกคำนิยามเหล่านี้ยังไม่แข็งแรงพอให้ที่จะกำหนดรูปแบบเกม Roguelike ได้ ดังนั้นจึงได้เกิดกลุ่มที่เรียกว่า “Berlin Interpretation” หรือ “การตีความของ Berlin” แล้วกลุ่มนี้กำหนดอะไรไว้บ้าง ?

คำนิยามที่ใช้เป็นข้อกำหนดแนวเกม Roguelike คือ

  1. ดันเจี้ยนภายในเกมใช้ระบบ “Random Generation” หรือ “การสร้างแบบสุ่ม” เพื่อเพิ่มความสามารถในการเล่นซ้ำ และอาจจะรวมถึงการกำหนดเลเวลของดันเจี้ยนเพื่อให้ผู้เล่นสามารถเล่นได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมพิเศษ
  2. เกมใช้ระบบ “Permadeath” หรือ “เพอร์มาเดธ” การตายอย่างถาวรนั้นทำให้ผู้เล่นต้องเริ่มเล่นใหม่ตั้งแต่แรกรวมถึง การเก็บเลเวลใหม่ หาอุปกร์ณ์ใหม่ หรือการเปิดแผนที่ใหม่ ทำให้ระบบการสร้างแบบสุ่มนั้นถูกวนกลับมาใช้ต่อตอนนี้
  3. เกมเป็นแบบ “Turn-Based” หรือ “ผลัดกันเล่น” โดยที่ผู้เล่นจะมีเวลาเท่าที่จำเป็นในการตัดสินใจในการทำอะไรบ้างอย่าง เช่น การเคลื่อนที่, การต่อสู้กับมอนเตอร์ จนจบกระบวนการอย่างเป็นลำดับ
  4. ต้องไม่มีตัวช่วยใดในทุกๆ ของเกมเพื่อช่วยเหลือผู้เล่นภายในเกม กลุ่มของ Berlin Interpretation มองว่าการมีร้านค้าภายในเกมประเภท Roguelike นี้ ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะจะทำลายนิยามของ Roguelike ลง
  5. เกมจะต้องให้ผู้เล่นมีทางเลือกในการบรรลุเป้าหมายมากกว่า 1 วิธี เช่น การเดินผ่านประตูที่ล็อกไว้ ผู้เล่นสามารถเปิดล็อกได้ หรือ สามารถเผาประตู หรือ เดินอ้อมอุงโมงค์ ไปก็ได้
  6. ผู้เล่นต้องหาทรัพยากรมาเพื่อใช้จัดการความอยู่รอด เช่น อาหาร ยารักษาโรค ซึ่งไอเท็มเหล่านี้จะมีอย่างจำกัดดังนั้นผู้เล่นจะต้องวางแผนการใช้งานเสมอ
  7. เกมมุ่งเน้นไปที่รูปการเล่นแบบ “Hack and Slash-Based” มีเป้าหมายเพื่อฆ่ามอนเตอร์จำนวนมากอย่างไม่มีทางเลือก
  8. เกมต้องการให้ผู้เล่นทำการสำรวจแผนที่และค้นพบไอเท็มใหม่ๆ ในแต่ละครั้งของการเล่น รวมถึงการค้นพบไอเท็มเวทย์มนตร์ที่แตกต่างกันออกไป

การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง:

Roguelike ในยุคแรกๆ ถูกพัฒนาขึ้นให้มีส่วนติดต่อกับผู้ใช้เพียงแค่ข้อความ หรือ Text-Based ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นคอมพิวเตอร์ระดับเมนเฟรมและเทอร์มินัลของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ UNIX ใช้ในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ตัวเกมจะใช้อักขระ ASCII หรือ ANSI ในการแสดงผล โดยจะให้ “@” แสดงแทนตัวผู้เล่น เพื่อบอกว่าผู้เล่นอยู่ตรงไหน ใช้ “$” เพื่อบอกสถานะเกี่ยวกับเงิน ใช้ “D” แทนคำว่า Dragon หรือ มังกร ในเกมต่อๆ มาเริ่มใช้สีของข้อความเข้ามาช่วย เช่น Red D จะแทนคำว่า Red Dragon หรือ มังกรแดง และมังกรสีแดงควรจะยิงไฟได้ Green D หรือ Green Dragon มังกรสีเขียว ควรจะยิงกรดได้

ในยุคต่อๆ มาคอมพิวเตอร์ได้ถูกพัฒนามาจนถึงระดับที่สามารถแสดงกราฟิกที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมได้ ทำให้ตัวเกมนั้นถูกปรับเปลี่ยนไปตามจินตนาการของผู้สร้าง เช่น การเพิ่มหน้าต่างในการกด หรือการคลิกเมาส์เพื่อเลือกอะไรบางอย่าง หลายๆ สิ่งถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นรวมถึงช่องเก็บไอเท็มของตัวละครและมอนเตอร์ที่ต่อสู้ด้วย

ในขณะที่กาลเวลาเริ่มผ่านไป เทคโนโลยีเองก็ได้รับการพัฒนาอยู่เสมอรวมถึงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลก็เช่นกัน เมื่อคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนาด้านกราฟิกที่ล้ำหน้าและดีขึ้นมาก และเริ่มมีการเกิดขึ้นของเครื่องเกมคอนโซลบ้างแล้ว เกมในยุคต่อๆ มาที่พยายามจะอ้างอิงความคลาสสิกของแนว Roguelike แต่ก็ทำได้เพียงแค่หยิบนิยามของคำว่า Roguelike มาใช้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น เช่น นำเรื่อง Permadeath มาใช้ แต่ไม่นำเอาการเคลื่อนที่แบบช่องมาใช้ด้วย การเล่นแบบ Turn-Based ก็ถูกแทนที่ด้วยการเล่นแบบ Action แทน

ทางแยกใหม่ของ Roguelike:

ผู้พัฒนาเกมในยุคต่อมานั้นเริ่มมองว่า เกมแนว Roguelike แบบดั้งเดิมนั้นมีความยากเกินไปและผู้เล่นต้องใช้การเรียนรู้สูง อีกทั้งผู้เล่นเหล่านี้ไม่สามารถเล่นจบโดยการเล่นซ้ำหลายๆ ครั้งได้ จึงทำให้ Roguelike แบบดั้งเดิมมีความยากต่อการขายให้ผู้เล่นในกลุ่มใหญ่ๆ และองค์ประกอบของ Roguelike ก็ไม่ดึงดูดให้ผู้เล่นอยากเข้าใกล้สักเท่าไหร่ ทำให้หลายๆ เกมนำเอาเพียงคำนิยามบางส่วนของ Roguelike มาใช้กับเกมของตัวเองเท่านั้น

Berlin Interpretation มองว่าผู้พัฒนาเกมกำลังทำให้ผู้เล่นเกิดความสับสน เกี่ยวกับแนวเกม Roguelike แบบดั้งเดิมที่ผู้พัฒนาเกมหยิบเอาคำนิยามมาใช้เพียงบางส่วน แต่กลับใช้คำว่า Roguelike กับเกมเหล่านั้น และ Berlin Interpretation ก็ไม่ชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้บางเกมที่มีการลดทอนของคำนิยามลง จึงหันไปใช้คำใหม่ที่เกิดขึ้นมาในยุคหลังคือ “Rogue-lite” หรือ “Roguelike-like” เพื่อแยกความแตกต่างของเกมที่มีการหยิบยกความเป็น Roguelike มาเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น อย่างเช่นเกมในสมัยแรกเริ่มที่เราพอจะรู้จักกันดีอย่างเกม Diablo, ToeJam & Earl และ Dwarf Fortress ก็เป็นเพียงแค่เกมแนว Roguelite หรืออาจจะเรียกอีกแบบว่า “Hybrid-Roguelike”

Roguelike ในปัจจุบันเป็นอย่างไร?:

การจะเสาะหาเกมที่เป็น Roguelike แท้ๆ 100% คงจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเต็มที อย่างมากสุดก็ทำได้แค่ใกล้เคียงของดั้งเดิมเท่านั้น อย่างระบบ Permadeath ที่ตายอย่างถาวรแล้วต้องเริ่มเล่นใหม่หมด ก็คงจะไม่เหมาะเท่าไหร่แล้ว บางเกมอาจจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการพัฒนาระบบเพื่อช่วยให้ผู้เล่นสามารถเล่นได้ง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ง่ายจนเกินไป เช่น วิ่งกลับไปยังจุดที่ตายครั้งล่าสุด เพื่อเก็บไอเท็มเดิมและสามารถเล่นต่อในไอเท็มชุดเดิม หรือแม้กระทั่งการไม่มีร้านค้าตามเมืองภายในเกมเพื่อช่วยเหลือผู้เล่น ทำให้ผู้เล่นต้องหาไอเท็มจากการฆ่ามอนเตอร์ หรือจากการทำลายสิ่งของเพื่อหาไอเท็มเพิ่มเติม ก็คงจะทำให้ผู้เล่นลำบากอย่างบอกไม่ถูก เท่าที่ลองหาข้อมูลเพิ่มเติม เกมที่พอจะใกล้เคียงกับคำนิยามของ Rougelike เอาจริงๆ ก็มีให้เล่นอยู่เยอะพอสมควร แต่เราก็คงไม่เรียกคำว่า “ใกล้เคียง” ว่าของแท้ดั้งเดิมหรอก เราคงไปใช้คำใหม่ที่ถูกสร้างมาให้ใช้ในภายหลังว่า “Roguelite” แทน

แต่บางเกมผู้พัฒนาก็ยังใช้คำว่า Roguelike อยู่ในปัจจุบัน นั้นอาจจะหมายถึงสิ่งที่ผู้พัฒนาอยากจะบอกกับผู้เล่นว่า เกมที่พัฒนานี้มีความเป็นแนวเกม Roguelike ที่สูงมากหรือเกือบจะทั้งหมดของเกม ถ้าใครที่อยากลองเล่นเกมแนวนี้ GameTonix ได้หาตัวอย่างเกมมาให้ดูกัน ว่าเกม “Roguelike” ในแบบปัจจุบันนี้เป็นแบบไหนกันบ้าง

ตัวอย่างเกมแนว Roguelike, Roguelite:

Hades:

เกม Hades เปิดตัวไปในปี 2018 เป็น Indie Game ที่ได้รับรางวัล Game of The Year ในปี 2020 เรื่องราวคร่าวๆ คือ ผู้เล่นจะได้เล่นเป็นตัวละครที่ชื่อว่า Zagreus ซึ่งเป็นลูกชายของผู้ปกครองนรก Hades เขาถูกเลี้ยงดูโดยแม่บุญธรรม ทำให้ Zagreus อยากออกจากนรกเพื่อตามหาแม่ที่แท้จริง และ Zagreus ก็ได้รับความช่วยเหลือจากเหล่าทวยเทพ เพื่อช่วยให้ออกจากนรกนี้ไปตามหาแม่ของตัวเองได้ แต่แน่นอนไม่ได้ออกไปง่ายขนาดนั้น Hades ผู้เป็นพ่อก็ส่งลูกสมุนออกมาขัดขวาง Zagreus ทุกวิถีทางไม่ให้ออกไปจากนรกได้ และเราต้องฝ่าฟันอุปสรรคนี้ให้ได้

Darkest Dungeon:

เกม Darkest Dungeon เปิดตัวไปในปี 2015 เป็น Indie Game อีกหนึ่งเกม ที่ได้รับรางวัลในปี Best Video Games ในปี 2015 และ Independent Games Festival ในปี 2016 และรางวัลอื่นๆ อีกเพียบ เกม Darkest Dungeon จะเป็นการลุยลงไปใน Dungeon ที่มืดมิด เกมดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่มันสุดจะเครียดตรงที่ ตัวละครแต่ละตัวจะมีนิสัยของตัวเอง มีโรคภัย ความเปราะบางทางจิตใจ รวมถึงภัยคุกคามอื่นๆ ที่เกมจัดสรรมาซ้ำเติมทีมของคุณทุกเมื่อ คุณจะรวบรวมทีมที่มีตัวละครเหล่านี้ลงไปใน Dungeon และต้องเอาชีวิตรอดกลับออกมาให้ได้

For the King:

เกม For The King เปิดตัวไปในปี 2017 โดยมีเรื่องราวคร่าวๆ คือ หลังจากที่กษัตริย์ Bronner ได้ถูกนักฆ่าลึกลับรอบสังหารจนถึงแก่ความตาย เมืองที่เคยสงบสุขก็เข้าสู่ความโกลาหลวุ่นวาย เพื่อให้เมืองที่กำลังเข้าสู่ความวุ่นวายผ่านเรื่องร้ายไปได้ ทำให้ราชินี Rosomon ไม่อาจอยู่เฉยได้ จึงได้ประกาศตามหาเหล่า “ผู้กล้า” ที่จะมาช่วยกอบกู้ความวุ่นวายนี้ให้หมดไป และเราก็เป็นหนึ่งในผู้กล้านั้น ที่ได้รับมอบหมายภารกิจเพื่อช่วยเหลือผู้คนและเมืองให้พ้นความวุ่นวายนี้ให้ได้

Moonlighter:

เกม Moonlighter เปิดตัวไปในปี 2018 ตัวเกมเป็นภาพแบบ Pixel Art หรือที่เรียกว่า Game 16 Bit ถึงจะเป็นแบบ 16 Bit แต่บอกได้เลยว่าเกมอย่างลื่นไหล เรื่องราวคร่าวๆ คือ เราจะมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายของหน้าร้านปกติ แต่เราต้องหาของมาขายในร้านเพื่อหาเงินและบริหารร้านไม่ให้ขาดทุน แล้วของในร้านหามาจากไหน? ในตอนกลางคืนหลังจากปิดร้านเราจะได้รับสวมบทบาทเป็น ฮีโร่ ออกไปล่ามอนเตอร์ผ่านประตูโบราณ และหาของจากการผจญภัยที่ร้านของเขา

Vampire Survivors:

เกม Vampire Survivors เปิดตัวไปในปี 2021 เรื่องราวของเกมไม่น่าจะมี! ตัวเกมเป็นเกมแบบ 16 Bit แบบเดินลุย เดินอย่างเดียว บังคับได้แค่ทิศทางอย่างเดียวแค่นั้น ที่เหลือตัวเกมจะจัดการให้ แต่เกมไม่ประสงค์ดีกับชีวิตของเราเท่าไหร่ โดยที่เกมจะส่งเหล่ามอนเตอร์มาสังหารเราให้ตายให้ได้ สิ่งที่เราต้องทำในเกมคือ ห้ามตาย กับ อัพเลเวล เพื่อมีชีวิตรอดต่อไป

เรามีเกม Roguelike หรือ Roguelite มาแนะนำ แต่ต้องบอกก่อนว่าบางเกมอาจจะไม่ได้ใหม่มากแล้วในปัจจุบัน

ถ้าหากท่านใดอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริงๆ ที่เสียสละเวลามาอ่านบทความของเรา และถ้าหากท่านใดสนใจเกี่ยวกับเกมแนว Roguelike / Roguelite หรือต้องการจะติดตามอ่านบทความที่เราเขียนแนะนำเกม เราได้เขียนบทความแนะนำไว้ที่นี่

#เกมแนว Roguelike / Roguelite ที่คุณไม่ควรพลาด ทั้ง #EP1 และ #EP2

ที่มา: WikiPedia/Roguelike

GameTonix Ads Banner 970x250